26 ก.ค. 2557

การฝึกฝนความขยันขันแข็ง

คนที่มีนิสัยที่ขยันขันแข็งมักเป็นคนที่มีความเพียรพยายาม อีกทั้งยังเป็นคนที่ทำงานด้วยความสม่ำเสมอ ซึ่งนิสัยความขยันขันแข็งมักตรงกันข้ามกับนิสัยที่ขี้เกียจ คนขี้เกียจมักปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มักไม่เห็นคุณค่าของเวลา ถ้าหากว่าเราได้มีโอกาสไปสอบถามหน่วยงานต่างๆ องค์กรต่างๆ ว่าทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ต้องการคนที่มีนิสัยขยันขันแข็งหรือว่าต้องการคนที่มีนิสัยขี้เกียจ กระผมเชื่อแน่ว่าทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ ต้องการคนที่มีนิสัยขยันขันแข็ง”

1.ปลูกฝังความเพียร ความเพียรพยายามเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ อีกทั้งทำให้เรามีนิสัยขยัน
ขันแข็ง คนที่มีความเพียรไม่ได้หมายความว่าจะทำงานหักโหมแต่ตอนแรก แล้วตอนปลายก็ไม่ทำ แต่คนที่มีความเพียร มักเป็นคนที่ทำอะไรแล้วมีความสม่ำเสมอ ไม่เป็นคนใจร้อน แต่เป็นคนที่ทำแล้วไม่หยุด ดังคำเปรียบเทียบที่ว่า “น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินยังกร่อน มิใช่ด้วยความรุนแรงของหยดน้ำ หากทว่าด้วยความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอต่างหาก”
 2.ต้องฝึกฝนตนเองให้ ททท.หรือทำทันที คนขยันขันแข็ง มักจะไม่ปล่อยให้งานที่จะต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้ แล้วนำไปทำในวันพรุ่งนี้ ไม่เป็นคนที่มีลักษณะนิสัยทำงานแบบ “ ดินพอกหางหมู ” แต่จะเป็นคนที่มีการวางแผนและการบริหารเวลาที่ดี มีการรู้จักลำดับความสำคัญของงานที่ตนเองทำ
 3.ยึดหลัก อิทธิบาท 4 ในการทำงาน กล่าวคือ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ฉันทะ คือ ความรักในงานที่ตนเองทำ วิริยะความพยายาม ความเพียรในงาน จิตตะ คือมีจิตใจจดจ่อสนใจในงานที่ตนเองทำและวิมังสาคือการใคร่ครวญ วิเคราะห์ ไตร่ตรอง ในผลงานของตนเอง
 4.ฝึกสมาธิในการทำงาน คนที่ขยันขันแข็ง มักเป็นคนที่มีสมาธิในการทำงานของตนเอง คนที่มีสมาธิในการทำงานมักไม่เป็นคนที่ชอบพูดเพ้อเจ้อหรือเป็นคนคิดฟุ้งซ่าน แต่จะเป็นคนที่มีความคิดเป็นระบบ และมีความมุ่งมั่นในงานที่ตนเองทำ
 5.ต้องเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต คนที่มีความขยันขันแข็งมักเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต หากไม่มีเป้าหมายในชีวิตหรือเป้าหมายในการทำงานแล้ว ก็จะทำให้เกิดความเฉื่อยชา ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีความพยายาม แต่ในทางตรงกันข้าม หากว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตหรือเป้าหมายในการทำงาน ก็จะทำให้เกิดความกระฉับกระเฉง อีกทั้งมีความสุข และความสนุกสนานในการทำงาน
 6.ต้องฝึกความคิดให้ทำงานอย่างเป็นกระบวนการหรือระบบ การมีกระบวนการหรือระบบในการทำงาน จะทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ซึ่งการทำงานอย่างเป็นกระบวนการหรือเป็นระบบ เราต้องคำนึงถึง เรื่องของการวางแผนในการทำงาน การรู้จักประยุกต์ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น
 7.ต้องฝึกควบคุมตนเอง ความขยันขันแข็งเราสามารถสร้างขึ้นมาได้ ด้วยตัวของเราเอง คนที่มีความขยันขันแข็ง มักเป็นคนที่รู้จักควบคุมตนเองได้  ต้องรู้ว่าตนมีงานต้องทำ ก็ต้องพยายามปฏิเสธสิ่งที่ทำให้เสียเวลาในการทำงานเช่น การเล่น การพูดคุย จนทำให้งานสำคัญที่จะต้องทำเสียหาย , การรู้จักบริหารเวลา เมื่อวางแผนจะทำงานชิ้นใดแล้วก็ต้องพยายามฝืนใจทำหรือควบคุมตนเองให้ทำให้เสร็จ
 จากข้อความข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ความขยันขันแข็ง เราสามารถสร้าง เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาตนเองได้
ความขยันขันแข็งจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้าในที่ทำงาน เป็นเครื่องมือสร้างอนาคต บุคคลใดก็ตาม ถึงแม้จะฉลาดหรือเก่งสักปานใด แต่มีนิสัยเกียจคร้าน บุคคลนั้นก็มักจะเจริญก้าวหน้าในที่ทำงานได้อย่างไม่มั่นคงและถาวร ถ้าขาดซึ่งความขยันขันแข็ง


โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com






ไม่มีความคิดเห็น: